top of page

MAX KLEIN BIBLE MINISTRIES

1 โครินธ์ 13:1

ความรัก

 

ชีวิตฝ่ายวิญญาณคือความคิดและแรงจูงใจที่ถูกต้อง

 

ความคิดของคุณเป็นสิ่งที่กำหนดว่า คุณเป็นคนแบบไหน    ถ้าคุณคิดเลว คุณก็เป็นคนเลว ถ้าคุณคิดอย่างมีคุณธรรม  คุณก็เป็นคนมีคุณธรรม  ถ้าความคิดของคุณแคบ  คุณเป็นคนใจแคบ ถ้าคุณคิดแต่เรื่องตัวเอง  คุณก็เป็นคนหมกมุ่นกับตัวเอง  ถ้าคุณไม่คิด  คุณเป็นคนไร้ค่า ถ้าความคิดคุณไม่ตรงกับความคิดของพระเจ้า  คุณก็ไม่ใช่ผู้เชื่อที่ยิ่งใหญ่  แต่ถ้าหากความคิดของคุณตรงกับความคิดของพระเจ้า  คุณเป็นผู้เชื่อที่ยิ่งใหญ่  ความคิดและแรงจูงใจได้เกิดขึ้นในจิตใจและเป็นสิ่งกำหนดตัวจริงของเรา

 

“เพราะดังที่เขาคิดในจิตใจ (נפשׁ / นิเพ็ซ) ของเขา  เขาจึงเป็นเช่นนั้น”  (สุภาษิต 23:7)

 

คริสเตียนบางคนคิดว่าการประพฤติอย่างถูกต้องจะก่อให้เกิดความคิดที่ถูกต้อง  มีคริสเตียนหลายคนซึ่งอาจประพฤติดี  แต่มีความคิดชั่วร้ายและแรงจูงใจที่ไม่ถูกต้อง  การกระทำไม่สามารถก่อให้เกิดความคิดและแรงจูงใจ เพราะการกระทำไม่ได้สร้างคำศัพท์ในจิตใจซึ่งคำศัพท์จำเป็นต้องมีก่อนที่เราจะคิดได้  แต่ในทางตรงกันข้าม ความคิดและแรงจูงใจที่ถูกต้องได้ก่อให้เกิดการตัดสินใจและการกระทำที่ถูกต้อง   หากมองอีกมุมหนึ่ง  ถ้าคริสเตียนกระทำอย่างถูกต้อง  แต่ความคิดและแรงจูงใจของเขาไม่ถูกต้อง  เขาได้ปฏิบัติอย่างบกพร่อง และการกระทำของเขาไม่มีประโยชน์อะไรเลย  แรงจูงใจที่ถูกต้องต้องมาจากความรักที่เรามีต่อพระเจ้าเท่านั้น  ถ้าคริสเตียนได้รับแรงจูงใจจากการหาชื่อเสียงหรือคำชมเชยจากผู้อื่น หรือจากความปรารถนาที่จะได้รับพระพรหรือได้รับบำเหน็จจากพระเจ้า  หรืออาจเป็นเพราะกลัวการตีสอนจากพระองค์ก็ตาม  นั่นเขายังมีแรงจูงใจที่ผิด  มีเพียงความรักเท่านั้นที่เป็นแรงจูงใจที่ถูกต้อง

 

1 โครินธ์ 13:1 “ถ้า [ean / เอ – อัน] ข้าพเจ้าพูดภาษาแปลกๆได้  เป็นภาษามนุษย์ก็ดี  เป็นภาษาทูตสวรรค์ก็ดี  แต่ไม่มีความรัก [ἀγαπη / อากาเป] ข้าพเจ้าเป็นเหมือนฆ้องหรือฉาบที่กำลังส่งเสียง” 

 

ในสามข้อแรกของพระธรรมโครินธ์บทที่ 13 อาจารย์เปาโลได้เสนอสามกรณีซึ่งต่างกันไป  ซึ่งทุกกรณีนั่นเป็นข้อสมมุติ  เมื่อคำสันธาน “เอ-อัน” ถูกใช้กับปริกัลปมาลาและวลีว่า “แต่ไม่มี” เราเข้าใจว่าผู้เขียนกำลังแนะนำสถานการณ์สมมุติอันไม่ต้องพิสูจน์  เนื่องจากภาษาของทูตสวรรค์เป็นสิ่งที่ไม่มีมนุษย์รู้จักอยู่แล้ว  และไม่เคยมีใครสามารถย้ายภูเขาด้วยความเชื่อได้  เราต้องตีความหมายโดยสรุปว่า ประโยคเล่านี้เป็นข้อสมมุติอันไม่ต้องพิสูจน์ ซึ่งอาจารย์เปาโลเขียนโดยขยายความเกินความจริงเพื่อให้เห็นภาพที่เกิดขึ้นในคริสตจักร

พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงประทานของประทานในการพูดภาษาต่างๆ (ภาษาแปลกๆ) ให้กับชาวโครินธ์หลายคน  เพื่อประกาศข่าวประเสริฐแก่พ่อค้าชาวยิวที่ได้เข้ามาเมืองโครินธ์  อย่างไรก็ตาม  ผู้เชื่อที่ไม่ได้รับภาษาต่างๆ ก็เกิดความอิจฉาต่อผู้เชื่อที่ได้รับ  เขาจึงคิดภาษามั่วๆขึ้นเอง (ซึ่งอาจารย์เปาโลได้เขียนถึงในบทที่ 14)

การพูดภาษาต่างๆเป็นสิ่งที่น่าประทับใจมากสำหรับชาวโครินธ์เนื่องจากความเชื่อดั้งเดิมของเขา  ในลัทธิ ซิบิล และ ดิโอนิซิส มีการพูดมั่วๆ และกิจกรรมตามอารมณ์อีกหลายอย่าง เช่น ร้องตะโกน  เล่นฉาบดังๆ เป็นต้น  ดังนั้น  ชาวโครินธ์จึงคิดว่าการพูดภาษาต่างๆ เป็นสิ่งน่าประทับใจ  บางคนที่ไม่ได้รับของประทานการพูดภาษาต่างๆ  จึงได้พูดภาษามั่วๆเพื่อให้คนอื่นเห็นว่าเขาเป็นผู้เชื่อที่ยิ่งใหญ่  อย่างไรก็ตาม อาจารย์เปาโลไม่ใช่แค่ไม่ยอมรับการกระทำนี้เท่านั้น แต่เขาได้ชี้ให้เห็นว่าของประทานในการพูดภาษาต่างๆไม่มีความหมาย  เว้นแต่ว่าผู้เชื่อได้เติบโตในชีวิตฝ่ายวิญญาณและมีความรักต่อพระเจ้า

ถึงแม้ว่าไม่เคยมีมนุษย์คนใดพูดภาษาทูตสวรรค์  อาจารย์เปาโลก็รู้ดีว่าทูตสวรรค์มีภาษาของเขา ดูเหมือนว่าภาษาทูตสวรรค์เป็นภาษาที่ยากกว่าภาษาของมนุษย์ ถ้าผู้ใดสามารถพูดภาษาของทูตสวรรค์ได้       นั่นแสดงว่าเขาใกล้ชิดพระเจ้าซึ่งต้องหมายความว่าเขาเป็นผู้เชื่อที่ยิ่งใหญ่ อาจารย์เปาโลใช้คำเขียนที่เกินจริง เพื่อเน้นความสำคัญของความรักที่มาจากชีวิตฝ่ายวิญญาณ สมมุติว่ามีมิชชันนารีที่สามารถพูดภาษาไทย เกาหลี ญี่ปุ่น จีนและภาษาทูตสวรรค์อีกหลายภาษาได้คล่อง สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้เขาเป็นมิชชันนารีที่ดีหากเขาปราศจากความรัก  คือ ความรักส่วนตัวที่เขามีต่อพระเจ้า  และความรักที่ไม่มีเงื่อนไขที่มีให้กับเพื่อนมนุษย์ เขากลายเป็นเหมือนฆ้องหรือฉาบ  เขาไม่มีค่าอะไรเลย  และการกระทำของเขาก็ไม่มีค่าในสายพระเนตรของพระเจ้า

ในสมัยก่อน ไม่มีซุปเปอร์มาร์เก็ตเหมือนในปัจจุบัน  พ่อค้า  แม่ค้าได้ขายของโดยเข็นรถเข็นไปตามซอยตามตรอก  เนื่องจากบ้านส่วนมากมีกำแพงสูงล้อมรอบ  พ่อค้าแม่ค้าต้องส่งเสียงเรียกลูกค้า บางคนเอาทองเหลือง 2 ชิ้นมาตีเข้าหากัน ซึ่งได้เกิดเสียงดัง เอะอะ บาดหู โดยวิธีนี้ชาวบ้านจึงรู้ว่าคนขายของมาแล้ว

การกระทำเช่นนี้เปรียบได้กับผู้เชื่อที่เรียกร้องความสนใจ เนื่องจากที่เขาไม่มีความรัก  เขาจึงมีแรงจูงใจที่ผิดในการรับใช้พระเจ้า   คนนั้นจะพยายามให้คนอื่นมองเขาและยกย่องเขาเสมอ (approbation lust) การนี้ตรงข้ามจาก ยอห์น 16:14 ซึ่งบอกเราว่า พันธกิจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ คือ ยกย่องพระเยซูคริสต์

ความรักต้องเป็นแรงจูงใจในทุกสิ่งที่เราทำ  ในทุกๆด้านของชีวิต  ไม่ว่าเป็นด้านครอบครัว  การงาน  การศึกษา  การงานอดิเรก  การรับใช้พระเจ้า  หรือชีวิตฝ่ายวิญญาณของเราก็ตาม  ความคิดและการกระทำของเราต้องรับแรงจูงใจจากความรัก และความความปรารถนาที่จะเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า

อาจารย์เปาโลใช้คำว่า อากาเป ซึ่งในภาษากรีกมีความหมายว่า ความรักที่มีคุณธรรม ความรักอากาเปนี้รวมถึง ความรักที่ผู้เชื่อมีต่อพระเจ้า (reciprocal love for God) และ ความรักต่อผู้อื่นอย่างไม่มีเงื่อนไข ความรักที่เรามีต่อพระเจ้าเป็นความคิด  ไม่ใช่อารมณ์  “ถ้าท่านทั้งหลายรักเรา [พระเยซูคริสต์]   ท่านก็จะประพฤติตามบัญญัติของเรา” (ยอห์น 14:15)  เหตุฉะนั้น  ก่อนที่เราจะบอกว่า  “ฉันรักพระเจ้า”  เราจำเป็นต้องศึกษาพระบัญญัติของพระองค์และทำตามพระบัญญัตินั้น ทุกประการ  ทั้งการศึกษาและการเชื่อฟังเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความคิด  ไม่ใช่อารมณ์

ส่วนความรักต่อผู้อื่นอย่างไม่มีเงื่อนไข  เราต้องดูจาก 2 ด้านด้วยกัน ด้านหนึ่งเราจำเป็นต้องปราศจากจากบาปทางด้านความคิด (เช่น ความเกลียดชัง ความขมขื่น ความอิจฉา  ความมุ่งร้าย ฯลฯ) และในอีกด้านหนึ่งเราต้องมีความคิดที่ดีต่อเขา  ซึ่งมักจะแสดงออกด้วยการเสียสละ  ให้ความเมตตา  การให้อภัย  ฯลฯ  

 

ข้าพเจ้าไม่มีค่าอะไรเลย!

 

1 โครินธ์ 13:2 “และถ้า [สถานการณ์สมมุติอันไม่ต้องพิสูจน์] ข้าพเจ้ามีของประทานในการเผยพระวจนะ  และเข้าใจในความล้ำลึกทั้งปวงและมีความรู้ทั้งสิ้น  และมีความเชื่อมากยิ่งที่สุด  พอจะยกภูเขาไปได้  แต่ไม่มีความรัก [อากาเป]  ข้าพเจ้าไม่มีค่าอะไรเลย” 

 

บางอย่างในข้อนี้เป็นจริงในชีวิตของอาจารย์เปาโล แต่บางอย่างก็ไม่จริง  แต่นั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญเพราะอาจารย์เปาโลแค่ใช้ตัวเองเป็นตัวอย่างในประโยคข้อแม้  ซึ่งเป็นข้อสมมุติอันไม่ต้องพิสูจน์ (hypothetical conditional sentence) เช่น อาจารย์เปาโลได้รับของประทานในการเผยพระวจนะเหมือนกับเปโตรและยอห์น (อาจารย์เปาโลได้เผยถึงการถูกรับขึ้นไปของคริสตจักร (1 โครินธ์ 15:51-54; 1 เธสะโลนิกา 4:15-17)  และเขาก็มีของประทานในความรู้เกี่ยวกับความล้ำลึกของคริสตจักร ในเวลานั้นพระคัมภีร์ยังไม่ได้ถูกรวบรวมเป็นพระคริสตธรรมคัมภีร์ใหม่  และเขามีความรู้เกี่ยวกับคริสตจักรในเรื่องอื่นๆ ซึ่งในปัจจุบันเราสามารถอ่านได้ในพระคัมภีร์

ในสมัยของอาจารย์เปาโล musthrion (มูสเทรีโอน) เป็นคำที่เขาใช้เรียกการสอนที่ล้ำลึกของลัทธิต่างๆ  หลักคำสอนหรือความล้ำลึกนี้ เป็นที่รู้กันระหว่างสมาชิกในลัทธินั้นเท่านั้น  ในยุคคริสตจักรก็มีหลักคำสอนที่ล้ำลึก ซึ่งเป็นที่รู้กันเป็นที่เข้าใจกันระหว่างสมาชิกในครอบครัวของพระเจ้า

เนื่องจากหลักคำสอนนี้มีไว้เฉพาะผู้เชื่อในคริสตจักร  อาจารย์เปาโลได้นำคำ “มูสเทรีโอน” มาใช้เพื่ออธิบายหลักคำสอนที่เกี่ยวกับชีวิตฝ่ายวิญญาณ  ครอบครัวของพระเจ้าเป็นกลุ่มคนพิเศษซึ่งมีหลักคำสอนพิเศษและมีเอกลักษณ์      พระเยซูคริสต์ในฐานะเป็นมนุษย์  พระองค์เองเป็นบุคคลแรกที่ได้รับการประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ซึ่งในยุคคริสตจักรพระองค์ทรงมอบให้ทุกคนที่เชื่อในพระองค์ พระองค์ทรงแต่งตั้งเราให้เป็นเอกอัครราชทูตของพระองค์  และเราเป็นปุโรหิตโดยได้รับบัพติสมาจากพระวิญญาณบริสุทธิ์  สิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิพิเศษที่สูงสุด    และฐานะสูงสุดซึ่งพระองค์สามารถมอบให้แก่ผู้เชื่อทุกคน ณ เวลารอด   แม้แต่ผู้เชื่อที่ยิ่งใหญ่ในสมัยพระคัมภีร์เดิม เช่น อับราฮัม โมเสส และดาวิด ไม่ได้รับฐานะสูงเท่านี้  ร่างกายของผู้เชื่อเป็นพระวิหารซึ่งมีทั้ง  พระเจ้าพระบิดา (เอเฟซัส 4:6) พระเยซูคริสต์ (โคโลสี 1:27)  และพระวิญญาณบริสุทธิ์ (1 โครินธ์ 6:19)  ทรงสถิตอยู่ด้วย สิ่งเหล่านี้ก่อนยุคคริสตจักรไม่เคยมี และหลังยุคคริสตจักรก็จะไม่มีเช่นเดียวกัน

นอกจากของประทานด้านความรู้ในหลักคำสอนที่ล้ำลึกแล้ว  ยังมีของประทานในด้านความรู้ทุกอย่างที่จะอยู่ในพระคัมภีร์ใหม่  ในยุคเริ่มแรกของคริสตจักรไม่มีพระคัมภีร์ใหม่  แต่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงประทานความรู้ในหลักคำสอนพระคัมภีร์ให้แก่ผู้ชายคริสเตียนบางคน เพื่อที่เขาจะรับใช้พระเจ้าในการสื่อสารหลักคำสอนพระคัมภีร์ในคริสตจักรท้องถิ่น และเพื่อให้คริสเตียนในสมัยนั้นมีโอกาสเติบโตฝ่ายวิญญาณเท่าเทียมกับคริสเตียนในรุ่นหลังจากที่พระธรรมถูกรวบรวมจนครบทุกเล่ม

ในข้อที่ 3 ของบทที่ 13 อาจารย์เปาโลได้พูดเกินความจริงเรื่อง “ความเชื่อที่พอจะยกภูเขาไปได้”  ก่อนพระคัมภีร์ใหม่จะถูกรวบรวมจนครบ มีของประทานพิเศษในด้านความเชื่อซึ่งมีไว้เฉพาะช่วงแรกของยุคคริสตจักรเท่านั้น  เราต้องแยกความเชื่อนี้จากความเชื่อซึ่งเราต้องอาศัยในการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน   ของประทานในด้านความเชื่อที่อาจารย์เปาโลกำลังพูดถึงเป็นของประทานฝ่ายวิญญาณชั่วคราว (temporary spiritual gift) ซึ่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงมอบแก่ผู้เชื่อในช่วงแรกของยุคคริสตจักรพร้อมกับของประทานอื่นๆที่ถูกบันทึกไว้ใน 1โครินธ์ 12:28 และใน 1โครินธ์บทที่13นี้  เนื่องจากไม่มีพระคัมภีร์  ของประทานเหล่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นและถูกใช้แทนพระคัมภีร์  พระธรรมเล่มสุดท้ายไม่ได้มีการบันทึกจนถึงปี ค.ศ. 96 และยังมีอีกหลายปี กว่าพระคัมภีร์จะถูกรวบรวมเป็นเล่มพร้อมที่จะแจกให้กับคริสตจักร   ในระหว่างเวลานั้นพระเจ้าทรงประทานของประทานพิเศษเพื่อการเติบโตของคริสตจักร

ถึงแม้ว่ามีของประทานด้านความเชื่อในคริสตจักรในยุคแรก  แต่ก็ไม่มีใครที่มีความเชื่อมากขนาดจะยกภูเขาไปได้  การที่จะยกภูเขาไปได้นั้นไม่มีผลในฝ่ายวิญญาณ  จงจำไว้ว่า อาจารย์เปาโลได้เขียนเกินความจริงเพื่อให้เราเข้าใจในสิ่งที่เขาสอน  คือ ความยิ่งใหญ่ในชีวิตฝ่ายวิญญาณขึ้นอยู่กับความรักที่เรามีต่อพระเจ้า ไม่ใช่ของประทานหรือการกระทำของเรา  เนื่องจากของประทานฝ่ายวิญญาณในสมัยเริ่มแรกของคริสตจักรเป็นสิ่งที่น่าประทับใจมาก อาจารย์เปาโลทำให้ของประทานด้านความเชื่อน่าประทับใจมากยิ่งขึ้นโดยการพูดเกินจริง ซึ่งหมายความว่า ถ้าคุณมีของประทานฝ่ายวิญญาณที่น่าประทับใจ รวมถึงความเชื่อพอที่จะยกภูเขาได้  แต่คุณไม่มีความรัก  คุณไม่มีค่าอะไรเลย

 

วีรบุรุษผู้ไร้ค่า

 

เมื่ออาจารย์เปาโลเขียนคำว่า “ข้าพเจ้าก็ไม่มีค่าอะไรเลย เขาได้ใช้คำจากภาษากรีกแบบคลาสสิก (Classical Greek) ว่า ouqen eimi (อูเธน เอมี) ในพระคัมภีร์ทั้งหมด มีเพียงลูกาและอาจารย์เปาโลที่ใช้คำนี้ (โดยอาจารย์เปาโลได้ใช้เฉพาะบทนี้) แต่เป็นคำเขียนที่ชาวกรีกคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะเป็นคำเดียวกันกับที่นักประพันธ์ชาวกรีกได้ใช้อธิบายพระเอกนางเอกในละครเศร้าอิงประวัติศาสตร์ของเขา

มีเรื่องหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับกษัตริย์องค์หนึ่งชื่อ อากาเม็ม-น่อน ซึ่งเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูงและเห็นแก่ตัว   เขามีภรรยาที่น่ารัก ชื่อ คลายมาเนสตรา  มีธิดาที่งดงามชื่อ อิฟาเจเนีย และมีโอรสคนหนึ่ง  ถึงแม้อากาเม็ม-น่อน ได้รับพรอันมากมายในชีวิตของเขา เขายังไม่พอใจกับสิ่งที่มีอยู่  เขาอยากจะเป็นวีรบุรุษที่ยิ่งใหญ่  เพราะตอนนั้นเป็นยุคของวีรบุรุษที่ยิ่งใหญ่    เมื่อมีสงครามเกิดขึ้นระหว่างชาวกรีก-มายซีเนียกับชาวเมืองทรอย  อากาเม็ม-น่อนได้รับตำแหน่งเป็นแม่ทัพของกองทัพเรือและกองทัพบกของกรีก-มายซีเนีย  ซึ่งเป็นหนทางที่จะทำให้เขามีชื่อเสียง  อย่างไรก็ตาม  มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นซึ่งทำให้เขาฝันสลาย  หลังจากได้เตรียมกองทัพพร้อมแล้ว  เรือของกรีก-มายซีเนียไม่สามารถออกจากอ่าวออร์ลิสแล่นไปถึงสนามรบได้เพราะไม่มีลม  ศาสนาของชาวกรีกในสมัยนั้นเกี่ยวข้องกับการบูชายัญและการนับถือเทพ  ซึ่งนักบวชของวิหารมีหน้าที่นำพิธีกรรมนั้น  หลังจากเรือต้องอยู่นิ่งๆในอ่าวออร์ลิสมาหลายวัน    นักบวชจากวิหารของเทพอารเทมิสมาเยี่ยมกษัตริย์อากาเม็ม-น่อน  เขาได้อธิบายถึงสาเหตุที่ลมไม่พัด  คือ  มีสัตว์ตัวหนึ่งของเทพอารเทมิสถูกฆ่าตายโดยกลุ่มทหารของอากาเม็ม-น่อน เทพอารเทมิสจึงพิโรธและได้ห้ามลมพัด  เพื่อที่จะขอขมาเทพอารเทมิส   อากาเม็ม-น่อนจำเป็นต้องถวายธิดาเป็นเครื่องบูชายัญ (อิฟาเจเนียรักบิดาจึงได้ขออนุญาตอยู่บนเรือด้วยกับบิดา)

ถ้าอากาเม็ม-น่อนเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่แท้จริง เขาคงปฏิเสธศาสนาที่เลวร้ายนี้และจะไม่ยอมให้นักบวชฆ่าลูกสาวของตน  แต่เขาไม่ได้ทำเช่นนั้น  ถ้าเขาปฏิเสธ เขาคงถูกย้ายตำแหน่งแล้วหมดโอกาสที่จะเป็นวีรบุรุษที่มีชื่อเสียง  เนื่องจากความปรารถนาที่จะเป็นวีรบุรุษมีมากกว่าความรักที่เขามีต่อลูกสาว  เขาจึงยอมให้นักบวชเชือดคอของอิฟาเจเนียแล้วเผาถวายเทพอารเทมิส    

พวกทหารต่างพากันคิดว่าอากาเม็ม-น่อนเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่เขายอมสละชีวิตของลูกสาว  แต่ภรรยาของเขาไม่ได้คิดอย่างนั้น ในทางตรงกันข้าม คลายมาเนสตราเสียใจมากเมื่อได้ข่าวและรู้สึกขมขื่นต่อสามีเพราะสิ่งที่เขาได้ทำลงไป หลังจากสงครามได้จบลงแล้วอากาเม็ม-น่อนกลับมาสู่เมืองมายซีเนียโดยได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติสำหรับวีรบุรุษที่ยิ่งใหญ่          คลายมาเนสตราก็ได้ต้อนรับเขาอย่างอบอุ่นโดยแกล้งทำว่ายังรักสามีอยู่  แล้วพอกลับมาถึงพระตำหนักแล้ว  คลายมาเนสตราได้เตรียมน้ำอุ่นไว้ในอ่างให้อากาเม็ม-น่อนได้ผ่อนคลาย    พอเขานอนลงในอ่างที่แสนสุขสบาย  คลายมาเนสตราและแอกิสทัซซึ่งเป็นชู้รักของนางได้โยนตะข่ายคลุมเขาไว้และได้หั่นเขาออกเป็นชิ้นๆ ด้วยความมักใหญ่ใฝ่สูงที่เย่อหยิ่ง สุดท้ายอากาเม็ม-น่อนจึงกลายเป็น “อูเธน” คือ กลายเป็นวีรบุรุษที่ไม่มีค่าอะไรเลย

พระเจ้าทรงรักคริสเตียนเป็นเวลาหลายล้านล้านปี  พระองค์ทรงสถาปนาชีวิตฝ่ายวิญญาณให้คริสเตียนเพื่อเราจะสามารถตอบสนองความรักที่พระองค์ทรงมีต่อเรา อย่างไรก็ตาม  คริสเตียนส่วนใหญ่กำลังทำอะไรอยู่? เนื่องจากเขาไม่ได้เรียงลำดับความสำคัญในชีวิตอย่างถูกต้อง  เขาจึงไม่สามารถพัฒนาความรักที่มีต่อพระเจ้า เพราะหลายอย่างเข้ามาดึงความสนใจของเขา ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้คริสเตียนล้มเหลวในชีวิตฝ่ายวิญญาณ  แทนที่จะเป็นผู้เชื่อที่ยิ่งใหญ่เขากลับเป็นผู้เชื่อที่ไร้ค่า

ถ้าผู้เชื่อได้เรียนรู้และได้ประยุกต์พระคำของพระเจ้าอย่างสม่ำเสมอ สุดท้ายเขาก็จะรักพระองค์  เขาอาจจะไม่ได้มีชื่อเสียงหรือมีคนเห็นว่าเขาเป็นผู้เชื่อที่ยิ่งใหญ่  แต่ในสายพระเนตรของพระเจ้าเขาจะเป็นผู้เชื่อที่ยิ่งใหญ่  เพราะการที่เขาได้สำนึกถึงพระคุณของพระเจ้าและปรารถนาที่จะตอบแทนความรักที่พระเจ้ามีต่อเขา  แต่มีผู้เชื่อหลายคนเป็นเหมือนอากาเม็ม-น่อน คือ อยากเป็นวีรบุรุษ  เขาอยากจะมีชื่อเสียง  ฐานะ ตำแหน่ง  ความสำเร็จ  เงินทอง  หรือความโลดโผน  มากกว่าสิ่งอื่น  เขาจึงไม่ได้ใช้เวลาที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับพระเจ้าและพระประสงค์ของพระองค์  ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลงเขาอาจได้ทำหลายอย่างให้สำเร็จ  รวมถึงการสนองความต้องการฝ่ายเนื้อหนังของตน  แต่ถ้าเขาไม่มีความรักต่อพระเจ้าเขาก็เป็นเหมือนอากาเม็ม-น่อน คือ  เขาไม่มีค่าอะไรเลย

ถ้าสมมุติว่าคุณได้รับของประทานทั้งหมดที่มีอยู่ในช่วงแรกของยุคคริสตจักร  แต่ไม่มีความรัก อากาเป  คุณไม่มีค่าอะไร  คุณไม่สำคัญ  และจะไม่มีอิทธิพลต่อประวัติศาสตร์  คนที่ไม่มีคุณค่าก็เป็นคนที่ไม่มีความสุข  ฉะนั้น  คริสเตียนที่ไม่ได้พัฒนาความรักอากาเปที่มีต่อพระบิดา พระบุตร  และพระวิญญาณบริสุทธิ์จึงเป็นคริสเตียนที่ไร้ค่าและไม่มีความสุข คุณอาจเป็นคนมีคุณธรรมสูง  อาจเป็นศิษยาภิบาลหรือมิชชันนารีที่มีชื่อเสียง   คุณอาจถวาย 30% ของรายได้ให้กับองค์กรคริสเตียน หรือคุณอาจจะอธิษฐานตั้งแต่เช้าจรดเย็นทุกๆวัน  แต่ถ้าคุณไม่รักพระเจ้า  สิ่งเหล่านั้นไม่มีค่า  และคุณเองก็ไม่มีค่าอะไรเลย       

 

1 โครินธ์ 13:3 “แม้ข้าพเจ้าจะสละทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้แก่คนที่ต้องการความช่วยเหลือ [แปลตรงจากคำว่า ywmisw / โซมิโซ] และยอมสละชีวิตของข้าพเจ้าไป เพื่อข้าพเจ้าจะโอ้อวด [kauchsmai / คาวเคโซมัย]   แต่ข้าพเจ้าไม่มีความรักอากาเป  จะหาเป็นประโยชน์แก่ข้าพเจ้าไม่” 

 

ใน 1 โครินธ์ 13:1-2  อาจารย์เปาโลได้กล่าวไว้ว่า  ถึงแม้ผู้เชื่อจะมีของประทานฝ่ายวิญญาณหลายอย่างที่น่าประทับใจ  แต่ถ้าเขาปราศจากความรัก  เขาไม่มีค่าอะไรเลย  และในข้อที่ 3 นี้  อาจารย์เปาโลได้กล่าวว่า  แม้ผู้เชื่อทำสิ่งที่น่าประทับใจโดยการกระทำดีหรือการเสียสละ แต่เขาไม่มีแรงจูงใจจากการตอบสนองต่อพระคุณของพระเจ้า  ความนับถือยำเกรงพระองค์  และ ความรักภักดีต่อพระองค์  เขาจะไม่ได้รับอะไรเลย

การยอมสละทรัพย์สมบัติทั้งหมดของตนเป็นการให้ที่น่าประทับใจ  ในตัวอย่างนี้  ผู้เชื่อยอมให้ทุกสิ่งที่เขามีจนไม่เหลืออะไรเลย  เราได้พบการกระทำเช่นนี้ในพระธรรมกิจการบทที่ 4 บารนาบัสเป็นเจ้าของที่ดินและมีชีวิตฝ่ายวิญญาณที่เข้มแข็ง เขาจึงมั่นใจในการจัดเตรียมของพระเจ้า  ก่อนที่เขาจะเดินทางไปประกาศข่าวประเสริฐกับอาจารย์เปาโล  เขาได้ขายที่ดินของตนแล้วนำเงินทั้งหมดนั้นมาถวายเพื่อช่วยเหลือคริสเตียนที่ยากจนในกรุงเยรูซาเล็ม  อย่างไรก็ตาม  อานาเนียกับภรรยาชื่อสัปฟีรา (กิจการ 5:1-10) อิจฉาบารนาบัสเพราะคำชมเชยที่บารนาบัสได้รับ ส่วนบารนาบัสเขาไม่สนใจในคำชมเชยนั้น  เขาแค่อยากจะพอพระทัยพระเจ้า  แต่ด้วยเหตุที่อานาเนียกับสัปฟีราปรารถนาที่จะได้รับการยอมรับจากผู้อื่นเหมือนบารนาบัส เขาจึงโกหกเรื่องเงินถวายของเขา เขาบอกเปโตรว่าเขาได้ถวายเงินทั้งหมดที่เขาได้รับจากการขายที่ดินของเขา  ขอสังเกตว่า ไม่มีใครขอให้เขาขายที่ดิน การขายที่ดินนั้นเป็นความคิดของอานาเนียกับสัปฟีราเอง  อย่างไรก็ตาม  เขาไม่ตั้งใจที่จะถวายเงินทั้งหมดอย่างที่บารนาบัสได้ทำ  แต่เขาโกหกเพื่อที่จะรับการยกย่อง

สิ่งที่อานาเนียกับสัปฟีราทำนั้น  ไม่ได้ทำให้เขากลายเป็นคริสเตียนที่แย่ในทันที  แต่ความโลภและการโกหกนั้นเป็นผลจากการอยู่นอกสัมพันธภาพกับพระเจ้า และภายใต้อิทธิพลของมารซาตานเป็นเวลานาน (กิจการ 5:3ก) ชีวิตฝ่ายวิญญาณเป็นระบบความคิด ซาตานก็มีระบบความคิดของมันเองซึ่งเป็นระบบจอมปลอม ถ้าคริสเตียนอยู่นอกสัมพันธภาพกับพระเจ้า ระบบความคิดของซาตานจะซึมซับเข้าถึงความคิดของเขาเหมือนกับอานาเนียกับสัปฟีรา  การโกหกไม่ได้เป็นการกระทำบาปที่มาอย่างฉับพลัน แต่เป็นผลลัพธ์จากการที่เขาขาดสัมพันธภาพกับพระเจ้าเป็นเวลานาน

คริสเตียนหลายคนเป็นเหมือนอานาเนียกับสัปฟีรา เขาอาจจะกระทำความดีหลายอย่าง แต่ทำด้วยแรงจูงใจที่ผิด เพราะเขาไม่มีสัมพันธภาพกับพระเจ้า เขาชอบคิดว่าตนเองกำลังทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้า  แต่แท้จริงแล้ว การกระทำของเขาไม่มีประโยชน์อะไรเลย  สักวันหนึ่งเขาก็จะตายอย่างน่าอับอายเช่นเดียวกับอานาเนียกับสัปฟีรา

“...และ ยอมสละชีวิตของข้าพเจ้าไป เพื่อข้าพเจ้าจะโอ้อวด [καυχάσομαι คาวเคโซมัย]...” ฉบับคัดลอกบางฉบับ ใช้คำว่า καυθησομαι  (คาวเธโซมัย) ซึ่งแปลว่า “ถูกเผาไป” แต่ฉบับคัดลอกที่น่าเชื่อถือกว่านั้น (ได้แก่ฉบับคัดลอก P36 ของ Chester Beatty Papyri ซึ่งคัดลอกในศตวรรษที่ 3, ฉบับ Vaticanus กับ ฉบับ Sinaiticus (ศตวรรษที่ 4) และฉบับ Alexandrinus (ศตวรรษที่ 5) เราจึงสามารถพิสูจน์ได้ว่า อาจารย์เปาโลใช้คำว่า kauchesomai  (คาวเคโซมัย) ซึ่งแปลว่า “ได้โอ้อวด”  

คำว่า  คาวเธโซมัย (ถูกเผาไฟ) เขียนในรูปแบบไวยากรณ์ที่เพิ่งเริ่มนำมาใช้กันในศตวรรษที่ 4   นักวิเคราะห์ภาษากรีกชื่อ Bruce M. Metzger ได้เขียนในหนังสือ A Textual Commentary on the Greek New Testament (หน้าที่ 219) ว่า “The reading kauthesomai (=future subjunctive!), while appearing occasionally in Byzantine times, is a grammatical monstrosity that cannot be attributed to Paul” ซึ่งหมายความว่า  ถ้าอาจารย์เปาโลเขียนคำว่า  คาวเธโซมัย (ถูกเผา) จริง นั่นต้องหมายความว่าเขาได้เขียนไวยากรณ์ผิดพลาดครั้งใหญ่  

การขัดแย้งระหว่างฉบับคัดลอก  คงเป็นเพราะนักคัดลอกคนหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ราวๆ ศตวรรษที่ 4 ได้เปลี่ยนตัวอักษร χ (คี) เป็นอักษร  θ (เธต้า) ซึ่งทำให้คำว่า คาวเคโซมัย (ได้โอ้อวด) กลายเป็น  คาวเธโซมัย (ถูกเผาไฟ) เราอาจคาดเดาได้ว่าสาเหตุเกิดจากนักคัดลอกต้นฉบับคนนั้นประทับใจกับคริสเตียนที่ยอมตายอย่างทรมาน เขาจึงไม่เห็นด้วยกับคำเขียนในแง่ลบที่อาจารย์เปาโลกำลังว่าคริสเตียนที่ยอมตายเพื่อได้รับการยกย่อง

ในบางกรณี พระเจ้ายอมให้ผู้เชื่อที่เติบโตแล้วสละชีวิตเพื่อถวายเกียรติแด่พระองค์  ผู้เชื่อเช่นนี้รับแรงจูงใจจากความรักส่วนตัวที่เขามีต่อพระเจ้า  และ ความรักที่ไม่มีเงื่อนไขต่อเพื่อนมนุษย์ (รวมถึงคนที่กำลังฆ่าเขา)  แต่ในข้อนี้ อาจารย์เปาโลกำลังพูดว่า บางคนยอมตายเพื่อตนเองจะได้รับเกียรติ  อาจารย์เปาโลแสดงความระแวงต่อคนเช่นนี้โดยเตือนชาวโครินธ์ว่า ถ้าผู้ใดยอมพลีชีพแต่ไม่มีความรักอากาเป   การกระทำของเขาไม่มีประโยชน์อะไรเลย  อาจารย์เปาโลจำเป็นต้องพูดถึงเรื่องนี้เพราะเขาได้สงสัยว่ามีผู้เชื่อบางคนในคริสตจักรโครินธ์ที่ยอมตายเพื่อสร้างชื่อเสียง

คริสเตียนบางคนคิดว่า การยอมตายในรูปแบบต่างๆ จะทำให้เขาได้รับบำเหน็จจากพระเจ้าซึ่งเขาคิดว่า  การยอมตายเป็นการกระทำที่ดี  ถ้าการยอมตายเป็นการกระทำที่ดี คนที่ตายนั้นก็มีสิทธิ์ที่จะโอ้อวดได้ อนึ่ง ถ้าการยอมตายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง  การยอมตายนั้นก็เป็นสิ่งที่ถูก แต่สิ่งที่ถวายเกียรติแด่พระเจ้าจริง คือ การที่ผู้เชื่อนำหลักคำสอนพระคัมภีร์มาใช้ในเวลาที่ถูกข่มเหง ถึงแม้จะต้องตายก็ตาม

“...แต่ข้าพเจ้าไม่มีความรัก อากาเป จะหาเป็นประโยชน์แก่ข้าพเจ้าไม่”

ภาษากรีกที่ใช้กันในช่วง ศตวรรษที่ 4 และที่ 5 ก่อนคริสตกาล คือ ภาษากรีกแบบคลาสสิก ซึ่งเป็นภาษาที่ซับซ้อนและแม่นยำ (sophisticated) และเป็นภาษาของชาวกรุงเอเธนส์ซึ่งมีนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียง  เช่น โซเครตีส และ เพลโต ได้ใช้   อย่างไรก็ตาม  เมื่อพระคัมภีร์ใหม่ถูกเขียนขึ้นมา  ผู้เขียนได้ใช้ภาษากรีกในรูปแบบ Koine (คอย-เน ซึ่งเป็นภาษากรีกสามัญที่ใช้ไวยากรณ์ที่ง่ายกว่า) ซึ่งเป็นภาษาที่ชาวกรีกใช้ทั่วไปในสมัยนั้น  เพราะเหตุนี้เราเห็นว่าผู้เขียนพระคัมภีร์บางคนใช้ภาษากรีกแบบคลาสสิกเท่านั้น (ได้แก่ ลูกา และผู้เขียนพระธรรมฮีบรู) ในขณะที่ผู้เขียนคนอื่นใช้รูปแบบ คอย-เน กับ ภาษากรีกแบบคลาสสิกผสมกัน  ซึ่งอาจารย์เปาโลชำนาญมากในการใช้ภาษาทั้ง 2 รูปแบบ เราจึงไม่แปลกใจที่อาจารย์เปาโลใช้ทั้ง 2 รูปแบบในตอนนี้  ในรูปแบบ ภาษากรีกแบบคลาสสิกคำว่า สูญ  หรือ เปล่า แปลมาจากคำว่า ουθεν (อูเธน) ซึ่งรูปแบบ คอย-เนใช้คำว่า ουδεν (อูเดน)  ถึงแม้ 2 คำนี้มีความหมายเดียวกัน  ก็ยังมีความแตกต่างในรายละเอียด  แต่อาจารย์เปาโลได้ใช้ 2 คำนี้เพื่อใช้สอนผู้เชื่อ

ใน 1 โครินธ์ 13:2 อาจารย์เปาโลได้ใช้คำ อูเธน  ซึ่งจะทำให้ชาวโครินธ์นึกถึงชะตากรรมของวีรบุรุษเช่น อากาเม็ม-น่อน เพื่อพวกเขาจะได้เปรียบชีวิตที่ล้มเหลวของวีรบุรุษนั้นกับชีวิตฝ่ายวิญญาณของตน อากาเม็ม-น่อนไร้ค่า (อูเธน)  เพราะความเย่อหยิ่งทำให้เขาอยากมีชื่อเสียง  สุดท้ายเขาต้องเสียชีวิตอย่างน่าอับอาย  คริสเตียนที่ล้มเหลวในการปฏิบัติชีวิตฝ่ายวิญญาณก็ไร้ค่า และชีวิตเขาไม่มีประโยชน์ (อูเดน)  เขาจะต้องตายเพราะบาปที่นำไปสู่ความตาย (1 ยอห์น 5:16) โดยใช้ทั้ง 2 คำนี้  อาจารย์เปาโลได้อธิบายว่า การล้มเหลวของคริสเตียนที่ไม่ได้ถวายเกียรติแด่พระเจ้านั้นเลวร้ายยิ่งกว่าการล้มเหลวของอากาเม็ม-น่อน 

bottom of page