top of page

MAX KLEIN BIBLE MINISTRIES

การดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อ

(The Faith-rest Drill)

 

การดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อเป็นสิ่งที่ผู้เชื่อจำเป็นต้องฝึกหัด   การฝึกที่จะประยุกต์พระคำของพระเจ้ามาใช้กับปัญหาและความกดดันจะก่อให้เกิดความสงบสุขในจิตใจ  การดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อนั้น คือ การเอาหลักคำสอนพระคัมภีร์และพระสัญญาของพระเจ้ามาประกอบกับความเชื่อ  แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับประสบการณ์ส่วนตัว   

การดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อ คือ การวางใจในพระเจ้าและพระประสงค์ของพระองค์  ไม่ใช่วางใจในความคิดของตนซึ่งมักจะผิดพลาด  ผู้เชื่อที่สามารถวางใจในพระเจ้าในทุกเรื่อง จะยับยั้งความกลัวและความเครียด และสร้างความสงบสุขในจิตใจแทน  ยกตัวอย่างเช่น  ด้วยเหตุว่าพระเจ้าทรงยุติธรรมในทุกเรื่อง  พระองค์จึงให้ความยุติธรรมแก่มนุษย์ทุกคนอย่างเสมอต้นเสมอปลายและตลอดเวลา พระองค์ทรงยุติธรรมต่อคุณเสมอ  คุณจึงไม่มีสิทธิ์ที่จะบอกว่า  “คนนั้นไม่ยุติธรรมต่อฉัน” หรือ “ชีวิตมันไม่ยุติธรรมเลย”  คุณต้องเข้าใจว่า  ถ้ามีผู้ใดไม่ยุติธรรมต่อคุณ  พระเจ้าผู้เที่ยงธรรมสามารถลงโทษเขา และเพิ่มพระพรให้คุณ

เมื่อเราเอาพระคำของพระเจ้ามาประยุกต์ใช้กับปัญหาและเหตุการณ์ที่กดดัน  เราจึงจะมีความสงบสุขในจิตใจ  ความสงบสุขนี้หมายถึง 2 อย่าง  คือ ความมั่นใจในพระเจ้าอย่างไม่สงสัย และการมีจิตใจที่ปราศจากบาปทางด้านความคิด หากจิตใจของผู้เชื่อถูกควบคุมด้วยบาปทางด้านความคิด เช่น ความกลัว ความกังวล ความโกรธ ความอิจฉา ความขมขื่น การสงสารตัวเอง ฯลฯ  เขาจะมีความเครียดภายในจิตใจ  ตัวอย่างเช่น  ถ้าเรากังวลใจเกี่ยวกับปัญหาครอบครัว  ความเครียดก็จะตามมา  หลักการนี้เราสามารถอธิบายด้วยสมการง่ายๆ คือ

 

ปัญหา + บาปทางด้านความคิด = ความเครียดภายในจิตใจ

 

ความเครียดนั้นทำจิตใจให้ปั่นป่วน  ในทางตรงกันข้าม  การประยุกต์หลักคำสอนพระคัมภีร์ประกอบด้วยความเชื่อจะก่อให้เกิดความสงบสุขในจิตใจ

 

ปัญหา + หลักคำสอนพระคัมภีร์ประกอบด้วยความเชื่อ = ความสงบสุขภายในจิตใจ

 

การดำเนินชีวิตโดยประยุกต์พระคำของพระเจ้าประกอบด้วยความเชื่อเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้เชื่อตลอดมา พระเจ้าทรงสัญญากับอับราฮัมว่าเขาจะเป็นบิดาของชนชาติที่ยิ่งใหญ่  ซึ่งต้องมาโดยซารายผู้เป็นภรรยาของเขา เพราะพระเจ้าไม่สนับสนุนการล่วงประเวณี (ปฐมกาล 12:2; 13:16) ตอนแรกอับราฮัมไม่มีความเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณ จึงสงสัยในพระสัญญานั้น เขาจึงคิดด้วยความท้อใจว่าชนชาตินั้นจะมาจากการที่เขานั้นจะรับเอลีเยเซอร์มาเป็นบุตรบุญธรรม (ปฐมกาล 15:2,3) เมื่ออับราฮัมมีอายุได้ 86 ปี เขายังไม่เข้มแข็งพอที่จะเชื่อว่าทายาทจะมาทางนางซาราย (ปฐมกาล 16:1-3, 16)

 

ในตอนแรกพระเจ้าทรงสัญญากับอับราฮัมที่เมืองเออร์ของชาวเคลเดีย  ในเวลานั้นอับราฮัมมีอายุไม่เกิน 75 ปี (ปฐมกาล 12:4) เขาจึงต้องใช้เวลามากกว่า 24 ปีในการสะสมหลักคำสอนของพระเจ้าไว้ในจิตใจ ซึ่งให้เขามีความเชื่อว่าบุตรชายนั้นจะมาโดยนางซาราย (ปฐมกาล 16:1-3, 16)

 

“ความเชื่อของเขามิได้ลดน้อยลงเลย  เมื่อเขาพิจารณาดูสังขารของเขา  ซึ่งเปรียบเหมือนตายไปแล้ว  [สมรรถภาพทางเพศ ] เพราะเขามีอายุประมาณร้อยปีแล้ว  และเมื่อคำนึงถึงครรภ์ของนางซาราห์ว่าเป็นหมัน  เขา [อับราฮัม] มิได้หวั่นไหวแคลงใจในพระสัญญาของพระเจ้า  แต่เขามีความเชื่อมั่นคงยิ่งขึ้น  จึงถวายเกียรติแต่พระเจ้า  เขาเชื่อมั่นว่า  พระเจ้าทรงฤทธิ์  อาจกระทำให้สำเร็จได้ตามที่พระองค์ตรัสสัญญาไว้” (โรม 4:19-21)

 

ตอนที่อับราฮัมได้เรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระเจ้า  ความมั่นใจที่เขามีในพระเจ้าก็เพิ่มมากยิ่งขึ้น:  “ฉะนั้น ความเชื่อเกิดขึ้นได้ก็เพราะการได้ยิน และการได้ยินเกิดขึ้นได้ก็เพราะพระคำของพระคริสต์” (โรม 10:17) ผู้เชื่อที่ได้ฟังพระคำของพระเจ้าในวันนี้ จะมีความเชื่อเล็กน้อยเกิดขึ้นในจิตใจของเขา และถ้าเขาได้ฟังต่อในวันพรุ่งนี้ก็จะมีความเชื่อเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย และถ้าเป็นเช่นนี้ตลอดชีวิตของเขา สุดท้ายเขาก็จะมีความเชื่อที่เข้มแข็ง

ภาษาฮีบรูใช้คำว่า קוה (คาวา) ซึ่งอธิบายถึงการพัฒนาการของความเชื่อ  คำว่า คาวา หมายถึงการเอาเส้นด้ายมาพันกันเพื่อสร้างเชือกที่แข็งแรง  และได้ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์เพื่อแสดงถึงความเชื่อของผู้เชื่อซึ่งรอคอยพระเจ้า (อิสยาห์ 40:31)   เชือกที่แข็งแรงถูกสร้างขึ้นโดยเริ่มจากด้ายเส้นเดียวซึ่งจะขาดได้ง่ายๆ อย่างไรก็ตาม  เมื่อเอาด้ายอีกเส้นหนึ่งมาพันกับเส้นแรกนั้นและพันเพิ่มขึ้นทีละเส้นๆ สุดท้ายก็จะมีเชือกที่แข็งแรง  หลักการของตัวอย่างนี้ คือ ยิ่งมีเส้นด้ายมากขึ้นเท่าไร เชือกก็จะยิ่งแข็งแรงขึ้นเท่านั้น  ความเชื่อของผู้เชื่อใหม่เปรียบเสมือนกันเส้นด้ายเส้นเดียว  ซึ่งจะขาดได้ง่ายๆ  อย่างไรก็ตาม    เมื่อผู้เชื่อใหม่ได้เรียนรู้หลักคำสอนจากพระคัมภีร์เพิ่มขึ้นก็จะเกิดเชือกแห่งความเชื่อที่แข็งแรง ด้วยหลักการนี้เขาสามารถดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อ  ไม่ใช่ตามสิ่งที่ตามองเห็น (2 โครินธ์ 5:7)

ก่อนยุคคริสตจักร  ชีวิตฝ่ายวิญญาณของผู้เชื่อได้เน้นการดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อ  เช่น  เมื่อชนชาติอิสราเอลยังอยู่ที่ประเทศอียิปต์  พวกเขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับอับราฮัมและพระสัญญาของพระเจ้าซึ่งพระองค์ทรงสัญญาที่จะประทานประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำผึ้งและน้ำนม    ดังนั้น โยเซฟออกคำสั่งก่อนตายว่า  ศพของเขาจะต้องไม่ฝังที่อียิปต์  แต่จะต้องถูกฝังในแผ่นดินที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้แล้ว   เมื่อโยเซฟได้เสียชีวิตชาวยิวจึงได้นำศพไปอาบด้วยยารักษาศพแล้วบรรจุไว้ในหีบศพ  ทุกครั้งที่ชาวยิวผ่านหีบบรรจุศพของโยเซฟ  พ่อก็จะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระสัญญาของพระเจ้าให้ลูกฟังซึ่งเป็นวิธีถ่ายทอดการเรียนรู้ที่จะวางใจในพระเจ้า  เขาจึงได้เรียนรู้ว่าชีวิตฝ่ายวิญญาณ คือ การวางใจในพระสัญญาของพระเจ้าเหมือนที่โยเซฟได้วางใจในพระองค์ ด้วยวิธีนี้ชนชาติอิสราเอลจึงได้มีชีวิตฝ่ายวิญญาณก่อนได้รับธรรมบัญญัติของโมเสส (ธรรมบัญญัตินั้นได้สอนเขาเกี่ยวกับการไถ่บาปของพระคริสต์ การสารภาพบาป และหลักการและกฏหมายต่างๆที่พระเจ้าทรงสถาปนาไว้เพื่อสังคมที่สงบสุข แต่ไม่ได้สอนเกี่ยวกับชีวิตฝ่ายวิญญาณ)   ชีวิตฝ่ายวิญญาณของผู้เชื่อเหล่านี้ คือการดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อในพระสัญญาของพระเจ้าและหลักการต่างๆที่สร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้า

 

การทดสอบความเชื่อ

 

เมื่อพระเจ้าทรงประทานชีวิตฝ่ายวิญญาณแก่ผู้เชื่อ  พระองค์ก็จะทรงทดสอบความเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณของเขา  ชนชาติอิสราเอลรับการทดสอบด้านฝ่ายวิญญาณในขณะที่เขาอพยพออกมาจากประเทศอียิปต์  พระเจ้าพระบุตร ในฐานะเป็นผู้เดียวของตรีเอกานุภาพที่ทรงปรากฏแก่มนุษย์  ทรงสำแดงพระองค์เองต่อชนชาติอิสราเอลเป็นเสาเมฆในเวลากลางวันและเสาเพลิงในเวลากลางคืน   แล้วทรงนำเขาถึงกับดัก    ทางเหนือและทางใต้มีภูเขาล้อมรอบ ข้างหน้ามีทะเลแดง  ข้างหลังพวกเขาเต็มไปด้วยฝุ่นเนื่องจากฟาโรห์อามีนโฮเทบกำลังนำกองทัพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกในสมัยนั้นมา  จากชาวยิวมากกว่า 1 ล้านคน มีเพียงโมเสสคนเดียวเท่านั้นที่เคยรับการฝึกทางทหาร (โยชูวากับคาเลบอาจได้เรียนบ้าง) ในสายตาของมนุษย์ดูว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีทางรอด แต่ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งพระเจ้าทรงกระทำไม่ได้ (ลูกา 1:37) ในความเป็นจริงแล้วนี่เป็นการทดสอบที่พระเจ้ามอบให้แก่เขา เพราะพระเจ้าได้ทรงสัญญากับชนชาติอิสราเอลแล้วว่าพวกเขาจะนมัสการพระองค์ที่ภูเขาโฮเรบ

 

“ฝ่ายโมเสสเมื่อเลี้ยงฝูงแพะแกะของเยโธรพ่อตาผู้เป็นปุโรหิตของคนมีเดียน ได้พาฝูงแพะแกะไปทางตะวันตกของถิ่นทุรกันดารจนมาถึงภูเขาของพระเจ้า คือ โฮเรบ” (อพยพ 3:1)

 

“พระองค์จึงตรัสว่า  ‘เราจะอยู่กับเจ้า [โมเสส] แน่ นี่เป็นหมายสำคัญให้เจ้ารู้ว่าเราใช้ให้เจ้าไป  คือเมื่อเจ้านำประชากรออกจากอียิปต์แล้ว เจ้าทั้งหลายจะมานมัสการพระเจ้าบนภูเขานี้’ ” (อพยพ 3:12)

 

จากชาวยิวมากกว่าล้านคน  มีเพียงโมเสสคนเดียวที่มีความเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณพอที่จะนำพระสัญญาของพระเจ้ามาประยุกต์ใช้ต่อสถานการณ์ที่พวกเขาเผชิญอยู่ ในขณะที่คนมากกว่าล้านคนกำลังโวยวายเพราะจมอยู่ในความหวาดกลัว  โมเสสเตือนพวกเขาว่า “อย่ากลัวเลย  จงนิ่งไว้  คอยดูความรอดที่จะมาจากพระเจ้า  พระเจ้าจะทรงรบแทนท่านทั้งหลาย  ท่านทั้งหลายจงสงบอยู่เถิด”  (อพยพ 14:13ก, 14)  ชาวยิวน่าจะผ่านพ้นการทดสอบนี้  แต่เขามัวแต่มองที่ปัญหา  คือ  กองทัพอียิปต์ที่กำลังเข้ามาใกล้  แทนที่จะมองที่การแก้ไข  คือ พระเจ้าและพระสัญญาของพระองค์ ส่วนโมเสสตอนแรกเขามองดูที่กองทัพอียิปต์เพื่อที่จะเข้าใจสถานการณ์ แต่เมื่อได้เห็นว่าชนชาติอิสราเอลไม่สามารถสู้กับกองทัพได้  โมเสสจึงรอคอยการแก้ไขปัญหาจากพระเจ้าซึ่งขึ้นอยู่กับความมั่นใจที่โมเสสมีในพระองค์และพระสัญญาของพระองค์ เนื่องจากโมเสสสามารถดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อ  เขาจึงมีความสงบสุขในจิตใจแม้ในยามภาวะตึงเครียด

 

หลักการความกลัวและความเครียด

 

“เมื่อฟาโรห์เข้ามาใกล้ ชนชาติอิสราเอลก็เงยหน้าขึ้นดู เมื่อเห็นชาวอียิปต์ยกทัพติดตามมา ก็มีความกลัวยิ่งนัก คนอิสราเอลจึงร้องทูลพระเจ้า” (อพยพ 14:10)

 

ชาวยิวต้องอาศัยความเชื่อในการรับความรอด  ตอนนี้เขาต้องอาศัยความเชื่อโดยนำพระสัญญาของพระเจ้ามาประยุกต์ใช้กับเหตุการณ์อันคับขันที่ทะเลแดง   ถ้าไม่มีความเชื่อในเรื่องความรอด เราก็ไม่รอด ในทำนองเดียวกัน ถ้าเราไม่นำความเชื่อมาใช้ในชีวิตฝ่ายวิญญาณ เราก็จะไม่รอดจากความทุกข์ในชีวิต  พระธรรมโคโลสี 2:6 เขียนไว้ว่า “เหตุฉะนั้น พวกท่านได้รับพระเยซูคริสต์เจ้าอย่างไร [ด้วยความเชื่อในพระองค์] จงดำเนินชีวิตต่อไป [ชีวิตฝ่ายวิญญาณที่ได้รับหลังจากรับความรอด] ในพระองค์อย่างนั้น”  เราต้องอาศัยความเชื่อเพื่อได้รับความรอด แล้วเราต้องอาศัยความเชื่อในชีวิตฝ่ายวิญญาณของเราด้วย ความแตกต่างระหว่าง 2 ประการนี้ คือ สิ่งที่เราเชื่อ (object of faith) สิ่งที่เราเชื่อในเรื่องความรอด คือ พระเยซูคริสต์   แต่ในชีวิตฝ่ายวิญญาณสิ่งที่เราเชื่อนั้น คือ ความคิดของพระเยซูคริสต์ซึ่งเราจำต้องสะสมไว้ในจิตใจพร้อมที่จะประยุกต์นำมาใช้ในแต่ละสถานการณ์

สำหรับชาวยิวในสมัยอพยพ เขาเห็นว่าการเอาตัวรอดเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าการประยุกต์หลักคำสอน ด้วยเหตุว่าเขาเรียงลำดับความสำคัญไม่ถูกต้อง เขาจึงตกอยู่ในความกลัวซึ่งเป็นบาปทางด้านอารมณ์ (หรือ ในกรณีที่อารมณ์นั้นกลายเป็นการหมกมุ่นคิดถึงบาปประกอบกับคำศัพท์ภายในกระแสความคิดก็ถือเป็นบาปทางด้านความคิด) ความกลัวเป็นอารมณ์ที่ไร้เหตุผลและเป็นบาปที่ทำลายจิตใจของผู้เชื่อ 

พระเจ้าไม่ตอบคำอธิษฐานเมื่อผู้เชื่ออยู่นอกสัมพันธภาพกับพระองค์และ ถูกควบคุมด้วยธรรมชาติบาป (สดุดี 66:18) ชนชาติอิสราเอลไม่ควรที่จะอธิษฐานร้องขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า แต่ควรอธิษฐานขอบคุณพระองค์ที่เขาจะได้มีโอกาสเห็นฤทธานุภาพของพระเจ้าในเวลาที่พระองค์จะทรงช่วยกู้เขาให้พ้นจากศัตรู   อย่างไรก็ตาม ความกลัวได้ทำไห้เขามองสถานการณ์ผิดพลาด

 

หลักการที่เกี่ยวข้องกับความกลัว

  1. ผู้เชื่อที่เรียนหลักคำสอนพระคัมภีร์มากมายยังมีโอกาสตกอยู่ในสภาพที่ตกใจกลัวเมื่อเผชิญเหตุการณ์ที่กดดันอย่างกะทันหัน

  2. เมื่อผู้เชื่ออยู่ในสภาพที่ตกใจกลัวแล้ว  เขามักจะลืมที่จะนำหลักคำสอนพระคัมภีร์มาใช้ให้แก้ไขปัญหา

  3. คนกล้าหาญสามารถคิดได้เมื่อเผชิญกับปัญหาหรือความกดดัน แต่คนขี้ขลาดไม่สามารถคิดด้วยเหตุผลได้ ความแตกต่างระหว่างสองคนนี้คือ ความ สามารถในการตั้งสมาธิเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดัน คนที่ไม่อาจตั้งสมาธิจะต้องพ่ายแพ้ต่อสถานการณ์ที่กดดันทุกครั้ง

  4. การมีสมาธิเป็นสิ่งสำคัญในการศึกษาหลักสอนพระคัมภีร์ แต่ในการประยุกต์หลักคำสอนนั้นมาใช้สมาธิก็ยิ่งสำคัญมากกว่า สิ่งนี้มีความสำคัญมากเมื่อเราต้องเผชิญกับวิกฤตกาลระดับประเทศหรือระดับโลก เช่น สงคราม ภัยบัติ และเศรษฐกิจตกต่ำ

  5. ความทุกข์ยากและความกดดันมักจะก่อให้ความเครียดเกิดขึ้น เมื่อผู้เชื่อเครียด เขาไม่สามารถคิดถึงการแก้ไขเพราะจิตใจมองดูแต่ปัญหาเท่านั้น

 

ชาวยิวได้พลาดทั้ง 5 หลักการข้างต้น  พวกเขาจึงได้บอกกับโมเสสว่า   

 

“หลุมฝังศพในอียิปต์ไม่มีหรือ ท่านจึงพาเราออกมาให้ตายในถิ่นทุรกันดาร ทำไมหนอท่านจึงพาเราออกมาจากอียิปต์” (อพยพ 14:11)  

 

จงจำไว้ว่าชนชาติอิสราเอลไม่จำเป็นต้องออกจากอียิปต์ตั้งแต่แรก โมเสสไม่ได้บังคับให้เขาไป  แต่คนเย่อหยิ่งไม่ยอมรับผิดชอบในสิ่งที่เขาได้ตัดสินใจ  อีกประเด็นหนึ่ง โมเสสเป็นแค่ผู้แทนของพระเจ้า การพาชนชาติอิสราเอลออกมาจากประเทศอียิปต์ไม่ใช่ความคิดของโมเสส  แต่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า  พระเจ้าจะนำพวกเขาออกจากการเป็นทาสในอียิปต์เพื่อตั้งพวกเขาไว้เป็นชนชาติที่พิเศษในประวัติศาสตร์ เป็นชนชาติที่พระเจ้าใช้เพื่อนำความรอดถึงชาวโลกทั้งหลาย

คนขี้ขลาดตายหลายครั้ง แต่คนกล้าหาญตายเพียงครั้งเดียว ความกลัวได้ควบคุมจิตใจของชาวยิวเกือบทุกคน พวกเขาจึงไม่สามารถคิดด้วยเหตุผลแต่กลับคิดว่าเขาจะต้องตายแน่ นั่นแหละคือการที่เขาได้ตายแล้ว เนื่องจากชนชาติอิสราเอลคิดโดยปราศจากเหตุผล  พวกเขาจึงมองสถานการณ์ในแง่ร้ายว่า    “เราต้องตายแน่ๆ!”  พวกเขาไม่ยอมเชื่อว่าพระเจ้าจะทรงช่วยกู้พวกเขาจากศัตรู

 

“พวกเราบอกท่านในอียิปต์แล้วมิใช่หรือ ปล่อยพวกเราแต่ลำพังให้พวกเรารับใช้ชาวอียิปต์เถิด เพราะการรับใช้ชาวอียิปต์นั้น ก็ยังดีกว่าที่จะมาตายในถิ่นทุรกันดาร” (อพยพ 14:12) 

 

แต่ก่อนหน้านั้นชนชาติอิสราเอลยินดีเมื่อได้ยินว่า พระเจ้าจะทรงนำพวกเขาออกจากการเป็นทาสของประเทศอียิปต์   

 

“ฝ่ายประชาชน เมื่อได้ยินว่าพระเจ้าเสด็จมาเยี่ยมเยียนชนชาติอิสราเอล และทอดพระเนตรเห็นความทุกข์ยากของเขาแล้วก็เชื่อเขากราบลงนมัสการ” (อพยพ 4:31)  

 

อย่างไรก็ตาม  พอพวกอียิปต์ให้พวกเขาทำงานหนักกว่าเดิม พวกเขาก็เปลี่ยนใจเป็นรู้สึกขมขื่นต่อโมเสสและไม่อยากเกี่ยวข้องกับเขา

 

“เขาพบโมเสสกับอาโรนยืนคอยเขาอยู่ จึงกล่าวแก่เขาทั้งสองว่า ขอพระเจ้าทรงพิจารณา และพิพากษาลงโทษท่านทั้งสอง เพราะท่านกระทำให้พวกข้าพเจ้าเป็นที่เกลียดชังต่อฟาโรห์และต่อข้าราชการทั้งปวงของพระองค์ เหมือนหนึ่งเอาดาบใส่มือเขาให้ฆ่าพวกข้าพเจ้าเสีย” (อพยพ 5:21)

 

ถึงแม้เขาได้รับการรับรองจากพระเจ้า  พวกเขายังไม่ยอมที่จะถ่อมใจและจำนนต่อพระประสงค์ของพระเจ้า

 

“เราจะนำพวกเจ้าเข้าไปในแผ่นดิน ซึ่งเราได้ปฏิญาณไว้ว่าจะให้แก่อับราฮัม แก่อิสอัค และแก่ยาโคบ เราจะยกแผ่นดินนั้นให้แก่เจ้าเป็นกรรมสิทธิ์ เราคือพระเจ้า โมเสสจึงนำความนั้นไปเล่าให้ชนชาติอิสราเอลฟัง แต่เขามิได้เชื่อฟังโมเสสเพราะหมดอาลัยตายอยาก และทนงานทาสแทบไม่ไหว” (อพยพ 6:8,9)

 

หลักการของความเครียด

 

  1. ความยากลำบาก คือ ความกดดันจากภายนอก  ความเครียด คือ ความกดดันที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ

  2. ความเครียดมีต้นกำเนิดเฉพาะที่ตัวบุคคล แต่ความยากลำบากมีต้นกำเนิดที่บุคคลอื่นหรือสถานการณ์รอบข้าง

  3. เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงความยากลำบาก  แต่เราสามารถหลีกเลี่ยงความเครียดได้

  4. ความเครียดได้ทำลายชีวิตฝ่ายวิญญาณของผู้เชื่อ เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดความเครียดขึ้นมาแล้ว ผู้เชื่อจึงต้องสารภาพ(กล่าวถึง)บาปของเขาต่อพระเจ้าพระบิดาในทันที

  5. ความเครียดทำให้ความสามารถในการสังเกต ความจำ และการตัดสินใจลดลง

  6. ความเครียดทำให้คนลืม เพราะฉะนั้น ความสามารถในการเรียนจึงลดน้อยลงด้วย

  7. ความเครียดทำให้เรามองความจริงผิดพลาดไป เมื่อชาวยิวอยู่ที่ทะเลแดง พวกเขาคิดว่า พวกเขาต้องตายแน่

  8. ผู้ใดที่เครียดนานๆ ความสามารถในการใช้ความคิดจะถูกทำลาย และ อาจกลายเป็นโรคจิตชนิดถาวรได้

 

คนที่ถูกควบคุมด้วยอารมณ์ และไม่ได้เรียงลำดับความสำคัญในชีวิตอย่างถูกต้อง  จะตกอยู่ในอำนาจของความกลัวเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดัน ถ้าผู้เชื่อไม่ได้แก้ปัญหาด้วยการนำพระคำของพระเจ้ามาประยุกต์ใช้ด้วยความเชื่อ เขาก็จะเครียดด้วยความกังวลหรือความหวาดกลัว  ซึ่งทำให้เขาขาดความสามารถในการแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธี  มีแต่คริสเตียนที่แน่วแน่เพราะหลักคำสอนของพระเจ้าในจิตใจที่จะสามารถจัดการต่อปัญหา และมีชีวิตที่ถวายเกียรติแด่พระเจ้า

 

แข็งแกร่งเพราะความเชื่อ  อ่อนแอเพราะอารมณ์

 

หลังจากพระเจ้าทรงช่วยกู้ชนชาติอิสราเอลแล้ว พวกเขาได้ร้องเพลงที่ไพเราะมาก สรรเสริญพระเจ้าที่พระองค์ทรงช่วยพวกเขา แต่การร้องเพลงไม่ได้แสดงถึงความเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณ ผู้เชื่อเหล่านั้นไม่ได้สรรเสริญพระเจ้าเพราะยำเกรงหรือรักพระเจ้า แต่พวกเขาสรรเสริญเพราะพวกเขารอดตาย  พวกเขาได้โมทนาสรรเสริญพระองค์เพราะความโล่งใจ (ซึ่งเป็นอารมณ์) ไม่ใช่เพราะพวกเขาซาบซึ้งในพระคุณของพระองค์ พวกเขาคิดว่าความปลอดภัยของตนเองเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต ไม่ใช่การมีสัมพันธภาพกับพระเจ้า การสรรเสริญพระเจ้าจะมีความหมายก็ต่อเมื่อผู้เชื่อเข้าใจและวางใจในคำสัญญาและหลักคำสอนของพระองค์ อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้เชื่อโง่เขลาต่อพระเจ้าและพระประสงค์ของพระองค์ ความสัมพันธ์ที่เขามีกับพระเจ้าจะถูกสร้างขึ้นมาด้วยอารมณ์ ความสัมพันธ์ที่สร้างขึ้นด้วยอารมณ์เป็นความสัมพันธ์ที่เปราะบาง!

จิตใจของเราจะได้รับผลจากเพลงนมัสการทั้งทางด้านความรู้ความเข้าใจ (cognition) และ ทางด้านอารมณ์ จุดประสงค์ของเนื้อเพลง คือ กระตุ้นความคิด  ส่วนความไพเราะจากดนตรีมีบทบาทในการกระตุ้นอารมณ์ ถ้าผู้เชื่อเข้าใจและเห็นคุณค่าในเนื้อเพลง เขาก็จะได้รับประโยชน์จากการร้องเพลงนั้นและเพลิดเพลินด้วยเสียงดนตรี ในทางตรงกันข้าม หากผู้เชื่อไม่เข้าใจและไม่สำนึกในความหมายที่แท้จริงของเนื้อเพลง การร้องเพลงนั้นจะไม่มีประโยชน์ฝ่ายวิญญาณ     เพราะเป็นเพียงแค่การกระทำด้วยอารมณ์เท่านั้น

 

“พระเจ้าทรงเป็นผู้พิทักษ์ผู้ออกรบแทนข้าพเจ้า

พระองค์ทรงเป็นผู้ช่วยให้ข้าพเจ้ารอด

พระองค์นี่แหละเป็นพระเจ้าของข้าพเจ้า

ข้าพเจ้าจะสรรเสริญพระองค์

ทรงเป็นพระเจ้าของบรรพบุรุษของข้าพเจ้า

ข้าพเจ้าจะยกย่องสรรเสริญพระองค์”

 

“ครั้งนั้นพวกเจ้านายในเมืองเอโดมก็พากันหวาดกลัว

และพวกหัวหน้าในเมืองโมอับก็สะทกสะท้าน

ชาวเมืองคานาอันทั้งปวงก็ระส่ำระสายไป”

(อพยพ 15:2, 15:15)

 

สามวันหลังจากที่พวกเขาได้ร้องเพลงว่า “พระเจ้าทรงเป็นผู้พิทักษ์ของข้าพระองค์” พวกเขาก็ได้แสดงถึงความอ่อนแอฝ่ายวิญญาณ โดยบ่นเพราะต้องเผชิญการทดสอบเพียงเล็กน้อย และอีกหนึ่งปีต่อมาชนชาติอิสราเอลก็ได้ปฏิเสธที่จะเข้าไปในแผ่นดินและร้องคร่ำครวญทั้งคืนเพราะกลัวชาวคานาอัน! (กันดารวิถี 14:1-11) เหตุการณ์นี้ทำให้เราเข้าใจว่า ผู้เชื่อสามารถร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าจนสลบเพราะหมดแรง แต่สิ่งนั้นจะไม่มีความหมายใดๆทั้งสิ้นหากผู้เชื่อไม่มีความเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณซึ่งจะต้องมาจากการรู้จักพระเจ้า  และการมีสัมพันธภาพกับพระองค์อย่างต่อเนื่อง

 

ก่อนข้ามทะเลแดงพวกเขาได้ทำบาปโดยอารมณ์ครอบงำความคิด (sinful emotion) และเมื่อข้ามฟากมาแล้ว  พวกเขาก็ได้สรรเสริญพระเจ้าด้วยอารมณ์ ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในสถานการณ์ที่กดดันหรือรอดตาย  พวกเขาก็ให้อารมณ์ครอบงำความคิดเสมอ  มีเพียงแต่โมเสสที่มีความจริงของพระเจ้าอยู่ในกระแสความคิดเสมอ เขาจึงมีความสามารถในการจัดการต่อทุกสถานการณ์ในชีวิต   เพราะฉะนั้น เมื่อโมเสสได้ร้องเพลงจึงเป็นการสรรเสริญพระเจ้าอย่างแท้จริง ส่วนคนอื่นการร้องเพลงของพวกเขาไม่มีความหมาย  เพราะทุกครั้งที่พวกเขาได้ประสบกับเหตุการณ์ที่กดดัน พวกเขาจะกังวลเรื่องความปลอดภัย  พวกเขาไม่ยอมนึกถึงการจัดเตรียมของพระเจ้าและพระประสงค์ที่พระองค์ทรงมีต่อชีวิตของพวกเขา เพราะเหตุนี้พวกเขาจึงได้แต่บ่นซ้ำแล้ว  ซ้ำเล่า  จนกระทั่งพวกเขาต้องตายในถิ่นทุรกันดารเพราะพวกเขาไม่ได้เรียนรู้ที่จะเอาพระคำของพระเจ้ามาประกอบด้วยความเชื่อ และประยุกต์นำมาใช้ต่อประสบการณ์ที่พวกเขาต้องเผชิญ

  

“เพราะว่าแท้ที่จริง เราได้รับข่าวอันประเสริฐเช่นเดียวกับเขา [ชาวยิวสมัยอพยพก็เป็นผู้เชื่อในพระคริสต์] แต่สิ่งที่เขาได้ยิน [พระคำของพระเจ้าซึ่งโมเสสและผู้สอนผู้อื่นได้สอนแก่เขาหลังจากได้รับความรอดแล้ว] ไม่ได้ช่วยเขา เพราะเขาไม่ได้ประยุกต์พระคำนั้นด้วยความเชื่อ   สำหรับเราผู้ที่เชื่อ  [ในพระสัญญาและหลักคำสอนของพระเจ้า] จะได้เข้าสู่การพำนัก [ความสงบสุขในจิตใจจากการวางใจในพระเจ้า]” (ฮีบรู 4:2-3ก)

bottom of page